Sustainability…ความยั่งยืนในบริบทของสถานศึกษา

อาจารย์กุลธิดา เที่ยงผดุง

อาจารย์ฝ่ายประกันคุณภาพและพัฒนาระบบ

วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ(SBAC)

หลายคนคงได้ยินคำว่าความยั่งยืนกันบ่อยใช่ไหม? คำนิยามคำว่า ความยั่งยืน  หรือในภาษาอังกฤษ Sustainability คือ สิ่งใดที่มีอยู่แล้วก็ยังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ขณะที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อย่างยืนมาเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว มีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จบ้าง จนมาถึงจุดที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ตลอดจนเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วทุก ๆ ภาคส่วน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2013 จนเกิดเป็น เป้าหมายการพัฒนาที่อย่างยั่งยืน 17 ประการ หรือ SDGs มาจาก Sustainable Development Goals ในมิติ 3 ด้าน ได้แก่  เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และจากที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกนำไปใช้ในหลายองค์กร หน่วยงาน สถานประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับประเทศไทยเองก็ถูกนำมาบรรจุลง เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  (พ.ศ.2560 – 2579) 

ภาพจาก https://www.sdgmove.com/intro-to-sdgs/

มาถึงความยั่งยืนภายในสถานศึกษา ทางวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) ได้นำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ มากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ “พัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลรุ่นใหม่ ใส่ใจความยั่งยืน” และนำไปสู่แผนพัฒนาวิทยาลัยและแผนปฏิบัติการประจำปี โดยได้วางกลยุทธ์และเป้าประสงค์เพื่อนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน  ได้จัดทำโครงการ/กิจกรรมหลายอย่างที่เน้นเรื่องความยั่งยืน อาทิ โครงการ SBAC GREEN COLLEGE โครงการ SBAC Green & Clean ตลอดจนโครงการเครือข่ายชุมชนสัมพันธ์เพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นต้น ตลอดทั้งมีการปรับการทำงานของบุคลากรในสถานศึกษา เป็นการทำงานรูปแบบ Paperless organization  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระบวนการทำงานสู่ระบบดิจิทัล เปลี่ยนการทำงานจากกระดาษมาเป็นการใช้ Digital file, Document management เพื่อลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ  ซึ่งจะลดต้นทุนและความสิ้นเปลืองทรัพยากรจากการใช้เอกสารได้อย่างมาก

ภาพจาก www.sbac.ac.th

สำหรับฝ่ายประกันคุณภาพและพัฒนาระบบ  ได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับความความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน จะเห็นได้จากภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Document) แบบเต็มรูปแบบ และมีการพัฒนาระบบการแจ้งส่งงานและการแจ้งเตือนข้อความอัตโนมัติผ่าน Line QA Official พัฒนาระบบโดยฝ่ายประกันคุณภาพและพัฒนาระบบร่วมกับแผนกเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัลซึ่งเป็นการบริหารจัดการงานภายในองค์กรตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ทุกแผนกในการส่งงานเป็นอย่างดี จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น Best Practice ให้ฝ่าย/ศูนย์/แผนกอื่น ๆ นำไปเป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนนโยบายความยั่งยืนให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในส่วนงานของตนเอง ทั้งนี้ ส่วนตัวผู้เขียนเองมองว่า บางครั้งแนวทางการปฏิบัติที่ดีอาจไม่ได้มาจากการคิดหรือทำการใหญ่ และไอเดียที่ดีที่สุดอาจมาจากสิ่งเล็กน้อยที่เรามองข้ามไปก็ได้ หลังจากอ่านบทความนี้จบลง อยากให้ทุกท่านลองมองรอบ ๆ ตัวเอง แล้วหยุดคิดพิจารณาสักนิดว่า เรากำลังมองข้ามอะไรไปหรือเปล่า?  เพื่อความเป็น Sustainability…ความยั่งยืนในบริบทของตนเอง ซึ่งสามารถต่อยอดสู่ Sustainability…ของโลกต่อไป